ยินดีต้อนรับสู่

“ มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ”

แจ้ง/ส่งหลักฐานการโอนเงินร่วมบริจาคสมทบการอบรมได้ที่
E-mail : [email protected]
Facebook : www.facebook.com/vipassanacm/messages



เรื่องเล่าจากอาจารย์... ( เรื่องเล่าจากอินเดีย ตอน1 )

ช่วงเดือนธันวาคมนี้ คงไม่มีอะไรเหมาะเท่าชวนสนทนาเรื่องส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แบบไทยๆ ซึ่งหลายท่านคงมีแปลนเรียบร้อยแล้วว่าจะไปไหนและทำอะไร

อีกหลายท่านคงยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะทำอะไรดีในช่วงเทศกาลวันปีใหม่

และคงมีอีกหลายๆท่านที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรนักกับเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้

ครับ อย่างไรก็ตาม ปีใหม่ก็กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดูเป็นเรื่องธรรมดาๆที่เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ แต่หากนำมาพินิจอย่างลึกซึ้งจะเห็นได้ว่ามีแง่คิดดีๆสำหรับวาระนี้หลายมุมมอง อาทิ เช่น

- ปีใหม่ สำหรับคนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นเรื่องน่ายินดี ควรแก่การเฉลิมฉลองเพราะเป็นวาระที่จะตั้งต้นการดำเนินชีวิตได้ใหม่ พร้อมกับทิ้งสิ่งที่ไม่ชื่นชมยินดีไปกับกาลในช่วงปีเก่า (พวกได้ของใหม่พร้อมลืมของเก่า ว่างั้นเหอะ)

- ปีใหม่ สำหรับคนบางกลุ่ม อาจเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเหมือนวันคืนทั่วๆไป...เชอะ!ไม่เห็นน่าจะแสดงความตื่นเต้นดีใจอะไรนักหนา (แต่ถ้ามาชวนกินฟรีก็จะไป)

- ปีใหม่ สำหรับคนบางคนแสนเศร้าสร้อยหลั่งน้ำตาอาลัย ก็จะนั่งรำพึงรำพันพร้อมส่องกระจกเงาไปด้วยว่า...โอ้ว่าธรรมชาติ ช่างโหดร้ายเสียนี่กระไร (ฉันแก่เร็วขนาดนี้เชียวหรือ)

ครับอย่างไรก็ตามวันปีใหม่ก็ยังเป็นวันสำคัญที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอยู่  เพียงแต่ว่า              อย่าไปให้ความสำคัญเฉพาะการรื่นเริง ยินดี เสวนากินเลี้ยงเฮฮากันเท่านั้น อันที่จริงยังมีสิ่งดีๆที่ควรทำเนื่องในวาระนี้อีกหลายอย่าง เช่น

                ถือโอกาสไปทำบุญตักบาตร ไปไหว้สาคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เอาของขวัญไปให้ญาติมิตรเพื่อนฝูง หรืออย่างน้อยที่สุดนั่งลงกับโต๊ะคว้าปากกามาเขียนสคส.ถึงใครบ้างคนฯลฯ

หากจะถามผมว่า ปีใหม่ในแง่พุทธศาสนาว่าไว้อย่างไรบ้าง ผมนึกดูแล้วส่วนใหญ่คำสอนที่อ้างอิงตรงๆถึงวันปีใหม่นั้นไม่ค่อยจะปี มีแต่คำสอนอ้อมๆที่สามารถปรับมาใช้เป็นคติธรรมในช่วงเวลาปีใหม่อย่างนี้ได้

พระพุทธองค์ประทานประโยคแห่งสติไว้เป็นหลักของการดำเนินชีวิตว่า

                วันคืนล่วงไป ล่วงไป ท่านทั้งหลายทำอะไรอยู่?

หากพินิจตามคำเตือนสติของพระพุทธองค์จะเห็นประโยชน์ของวันปีใหม่ เพราะบรรดาภิกษุหรือผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่างเจริญสติอยู่ทุกขณะจิต(หากระลึกขึ้นมาได้) และจะขวนขวายกระทำความดีที่ยังไม่ได้ทำหรือที่ทำยังไม่สุด

แต่สำหรับฆราวาสอย่างเราๆ...ผู้มิได้เจริญสติอยู่ทุกขณะ แถมซ้ำยังต้องอยู่เมามัวอยู่กับกิเลสทุกเมื่อเชื่อวัน มาตั้งต้นมีสติตอนวาระปีใหม่ ปีหนึ่งหนึ่งครั้ง หากตั้งได้ก็นับว่าดีโขแล้ว...

ตั้งสติอย่างไร? ตั้งสติโดยการรำลึกถึงสิ่งที่เรากระทำมาแล้วทั้งปีว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดตกพกพร่องหรือผิดพลาดหมองมัวไปบ้างหรือไม่ เพื่อจะตั้งต้นเริ่มใหม่ในปีใหม่นี้ โดยกระทำให้ดียิ่งๆขึ้นให้ผิดพลาดพกพร่องน้อยลงที่สุด และที่เคยประมาททำผิดพลาดล่วงเกินใครกระทบใจใครไปบ้าง ก็ถือโอกาสดิถีปีใหม่นี้ขออโหสิและต่างให้อภัยแก่กันและกัน

หรือ ตั้งสติโดยการระลึกว่า ศีลของเรา ที่ผ่านมาทั้งปี บริสุทธิ์ผ่องแผ้วดุจคืนจันทร์วันเพ็ญ หรือหมองมัวเป็นภาพขยายของผิวจันทร์ที่ดูหยาบขรุขระ หรือขาดทะลุดุจผ้าเหม็นสาบที่ถูกแมงสาบกัดแทะ

ระลึกได้แล้วจะได้นำมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่

หรือ ตั้งสติระลึกถึง คุณงามความดีที่ทำมาตลอดทั้งปีเป็นบารมี บางคนนึกได้กุศลบารมีก็ไหลมาเป็นฉากๆเพิ่มกำลังจิตเป็นกุศลทวีคูณ หน้าตาผ่องใสเกิดปีติอิ่มเอิบ หันไปยิ้มหวานให้ใครๆได้

                แต่ถ้าระลึกแล้ว ภาพแห่งความเลวร้ายมาปรากฏมีความชั่วผุดขึ้นมาแทน ก็ให้ทำคอย่นและสะบัดหน้าเป็นทีว่าเอาใหม่ๆ ฉันจะเริ่มต้นสะสมทำความดีใหม่ในปีนี้

                เอาเป็นคติเตือนใจส่องทาง เพื่อกระตุ้นตนเองให้ทำความดีตลอดปี พอถึงปีหน้ามาใหม่ก็ทำอย่างนี้อีก เรียกว่าปีใหม่...เป็นปีแห่งการตั้งต้นสติทำความดี อย่างนี้ก็ดีถมไปแล้วครับ

ผมเอง หลังเสร็จจากงานที่รับผิดชอบจัดงานปีใหม่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ขอลากิจ ๔วันทางราชการแถมให้อีก ๔ วัน รวมเป็น ๘ วัน ไปฉลองปีใหม่ด้วยการจาริกแสวงบุญตามรอยบาทของพระพุทธเจ้าที่อินเดีย ไปนมัสการและเจริญภาวนา ณ สังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง เริ่มตั้งแต่ดินแดนตรัสรู้ที่พุทธคยา สถานที่แสดงปฐมเทศนาที่สารนาถ ปรินิพพานที่กุสินาราและปิดท้ายด้วยไปนมัสการที่ประสูติของพระพุทธองค์ที่ ลุมพินี ประเทศเนปาล

รายการนี้  ต้องขอขอบคุณและอนุโมทนาคณะลูกศิษย์กลุ่มหนึ่ง  ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพออกค่าปัจจัยค่าเดินทางและช่วยดำเนินการทุกอย่างให้หมด ผมเพียงแต่ทำหน้าที่แพคกระเป๋าเท่านั้นก็เสร็จเตรียมตัวไปกับเขาได้เลย แต่ด้วยจิตสำนึกในพระคุณ ผมจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียที่พอรู้พอทราบมาทำเป็นเอกสารเล็กๆน้อยแจก และรับหน้าที่บรรยายธรรมและนำเจริญภาวนาเท่านั้น คณะเดินทางครั้งนี้ไปเป็นคณะใหญ่รวมทั้งหมดร่วมร้อยกว่าคน ใช้บริการของทัวร์มายด์วาเคชั่นซึ่งจัดการจองเครื่องบินเหมาลำเป็นชาร์เตอร์ไฟลท์บินไปลงที่สนามบินเมืองคยาได้เลย

การไปอินเดียครั้งนี้เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผม ที่ตรึงใจมากที่สุดในชีวิตที่ได้มีโอกาสไปเยือนสังเวชนียสถานและสวดมนต์เจริญภาวนา เป็นการฉลองปีใหม่และ Count down ที่พุทธคยา

            ผมสำนึกในพระคุณของท่านเจ้าภาพอยู่เสมอ ให้ถือว่าการเขียนบทความนี้เป็นการแทนคุณอีกส่วนหนึ่ง เผื่อว่ามีท่านผู้อ่านอ่านแล้วเกิดจิตศรัทธาคิดสร้างกุศลความดีและมีศรัทธาในพุทธศาสนายิ่งๆขี้น ก็ขอให้น้อมจิตอนุโมทนาแด่ท่านเจ้าภาพเหล่านั้นด้วยครับ

                จึงขอเชิญชวน ณ ที่นี้ว่า  เราชาวพุทธทุกท่านอย่างน้อยในชาติหนึ่ง ขอให้มีโอกาสไปเยือนสังเวชนียสถานทั้งสี่เถิด นับเป็นบุญหู บุญตาและเกิดเป็นบุญกุศลบารมีอย่างยิ่งให้กับตนในชีวิตนี้

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ในมหาปรินิพพานสูตร โดยตรัสตอบพระอานนท์เมื่อทูลถามว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ภิกษุและชนทั้งหลายไม่มีโอกาสพบเห็นพระองค์อีก ย่อมขาดกำลังใจและกุศลธรรมที่จะทำคุณงามความดี พระพุทธองค์ตรัสว่า

            “ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านั้นแล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธาจักมาด้วยระลึกถึงว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้บ้าง พระตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้บ้าง พระตถาคตยังธรรมจักรอันยวดยิ่งให้เป็นไปในที่นี้บ้าง พระตถาคตเสร็จปรินิพพานแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในที่นี้บ้าง

ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์เหล่านี้ มีจิตเลื่อมใส จักกระทำกาละ ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์*
                                        * ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อที่ ๑๓๑

 

คำว่าสังเวชนียสถาน อันหมายถึงสถานที่ที่พบเห็นแล้วเกิดความสังเวช

แต่คำว่าสังเวชนี้ มีที่มาจากคำบาลี มิใช่ในความหมายในภาษาไทยทั่วไปที่หมายถึงความสลด หดหู่ เศร้าใจ ที่เป็นเรื่องจิตเศร้าหมอง หากมีที่มาจากคำว่า สังเวค คือ สัง แปลว่าเกิดขึ้นพร้อม และ เวค ที่แปลว่า กำลัง

               รวมความแล้วสังเวชนียสถาน หมายถึง สถานที่ที่ไปพบเห็นแล้วเกิดกำลังขึ้นพร้อม

คำว่า กำลัง ในที่นี้หมายถึง กำลังศรัทธา กำลังสติ กำลังสมาธิ กำลังวิริยะและกำลังปัญญา ที่มีอยู่ในหมวดธรรมอินทรีย์ห้านั่นเอง เป็นธรรมที่รวมสรรพกำลังเป็นดุลยภาพ เพื่อยกจิตเข้าสู่ธรรมเบื้องสูง คือการบรรลุธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ไปเยือนแล้วที่ไม่มีศรัทธาก็จะเกิดศรัทธา ที่มีศรัทธาอยู่แล้ว ก็จะตั้งมั่นมีกำลังมากยิ่งขึ้น ...รวมถึงสติ สมาธิ วิริยะและปัญญาตามลำดับ สรรพกำลังเหล่านี้จะตั้งมั่นอยู่ในจิต

ผมเองรู้สึกได้สัมผัสกับพลังอันมหาศาล ที่เข้ามากระทบจิตอย่างแรง เหมือนมีพลังที่มองไม่เห็นอัดแน่นเข้ามาในอก จนเกิดธรรมปีติอย่างรุนแรง ในขณะที่เดินเข้าในบริเวณทางเข้าพุทธคยา และเกิดความรู้สึกเดียวกันอีกที่ธัมเมกขสถูป[๑] ณ สารนาถแดนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ที่ซึ่งพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลเบิ้องต้นและปัญจวัคคีย์ที่เหลือบรรลุตามภายหลัง ทั้งสองที่นี้เป็นที่สัปปายะในการปฏิบัติธรรมและรู้ธรรม

ที่พุทธคยา คณะของเราได้มีโอกาสไปสองครั้ง ครั้งแรกไปถึงก็ค่ำแล้วประมาณเกือบสามทุ่ม ไม่มีโอกาสนมัสการพระแท่นวัชรอาสน์ ตำแหน่งที่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่เข้าไปนมัสการพระพุทธเมตตาและเดินทักษิณาวัตรรอบพระสถูปเจดีย์ จึงตั้งใจจะนัดหมายมาใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น เอาเฉพาะกลุ่มที่สนใจการปฏิบัติธรรมเพราะต้องตื่นแต่ตีสี่เพื่อมาเดินจงกรมนั่งสมาธิรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และรอเวลาเปิดประตูให้นมัสการพระแท่นวัชรอาสน์ในเวลาหกนาฬิกา

รุ่งเช้าขณะที่คณะของเราไปถึง แม้ว่าจะเป็นเวลาตีห้าเศษ แต่ชาวพุทธจากทั่วโลกก็มากันเดินขวักไขว่แล้ว คณะของเราจึงไม่มีที่ๆเดินจงกรม ได้แต่หาที่นั่งไหว้พระสวดมนต์และนั่งสมาธิอยู่ใต้พระศรีมหาโพธิ์

หลังจากที่นำสมาชิกไหว้พระสวดมนต์เสร็จ ก่อนจะนั่งสมาธิผมก็เกิดธรรมปีติขนลุกและเย็นซ่านไปทั้งตัว จึงอธิษฐานจิตว่า หากงานเผยแผ่พระศาสนาที่ผมและคณะทำอยู่นี้ สามารถนำให้มีผู้ปฏิบัติได้รู้เห็นธรรมของพระองค์และสามารถต่ออายุพระศาสนาได้สามชั่วคน ขอให้พระพุทธองค์ทรงประทานใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์[๒] ให้แก่ข้าพเจ้าโดยให้ร่วงหล่นมาเบื้องหน้าของข้าพเจ้า เพื่อให้ข้าพเจ้าและลูกศิษย์ลูกหาได้นำไปบูชาเป็นเครื่องนำศรัทธาที่เมืองไทยด้วยเทอญ

                 พุทธานุภาพพลันปรากฏเป็นอัศจรรย์ มีใบโพธิ์หนึ่งใบร่วงมาเบื้องหน้าผมทันทีที่จบคำอธิษฐานผมน้อมตัวลงเก็บ และทรุดตัวลงกราบเบญจางประดิษฐ์อย่างนอบน้อมที่สุดในชีวิตสังเกตดูเป็นใบเขียวและยังสดอยู่ มิใช่ใบที่แก่และแห้งเหมือนใบที่ร่วงมาตามธรรมชาติ

                ผมจึงประคองใบโพธิ์อย่างถนุถนอมและอัญเชิญไว้ในกล่อง external harddisk ที่เตรียมไปอย่างพอดี

หลังจากนั้น เมื่อได้เวลาประตูเปิด กราบพระแท่นวัชรอาสน์แล้ว ทำทักษิณาวัตรอีกครั้ง ก็ต้องกราบอำลาจากไปเพราะเริ่มมีผู้คนหนาแน่นมากขึ้น จะได้เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมานมัสการบ้าง

มีสมาชิกหลายคนเข้ามาขอดูใบโพธิ์และยกขึ้นไปทูนเหนือหัว นัยว่าเป็นศิริมงคลในชีวิต

ผมเองก็เกิดธรรมปีติน้ำตาไหลตื้นขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก อธิบายออกมาเป็นความรู้สึกได้ยาก รู้แต่ว่าเป็นบุญกุศลหนักหนาที่ได้มาเยือน ณ ดินแดนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรม

บางคนอาจรังเกียจประเทศอินเดียเมื่อถูกชวนมาให้มาเที่ยวอินเดีย เพราะนึกถึงแต่ภาพลบของประเทศอินเดีย ว่า สกปรก ขอทานเยอะ และไม่ทันสมัยเลย

แต่ผมว่ามีอินเดียคราวนี้ได้ปัญญาเกิดขึ้นมากมาย

ปัญญาในที่นี้ คิดได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลกนั้น ผู้ใดที่มีโอกาสไปเยือนอินเดียจะเห็นทั้งความเชื่อและวิถีชีวิตของคนอินเดียอันมีรากลึกจากวัฒนธรรมและศาสนาฮินดูอย่างยากที่จะถอดถอน แม้ว่าพระพุทธองค์จะประกาศพระสัทธรรมมาแล้วกว่าสองพันปี ยังไม่สามารถล้มล้างความเชื่อของศาสนาฮินดูลงไปได้

การบูชาเทพ พระอาทิตย์ ดิน น้ำ ลม ไฟ ยังคงอยู่ ชาวฮินดูทั้งหลายยังลงอาบน้ำศักดิสิทธิ์ในคงคาและบูชาพระอาทิตย์อยู่ทุกวันมิขาด โดยไม่สนใจว่าโลกในทุกวันนี้ไปถึงไหนแล้ว

หากเกิดความทุกข์ยากขึ้นมาในชีวิต ชาวฮินดูก็จะไปสวดอ้อนวอนเทพเจ้าที่ตนเคารพนับถือและพร้อมที่จะทำการบูชายัญด้วยการเซ่นสังเวยสิ่งที่มีชีวิต

ไก่ แพะ วัว ก็ถูกลากไปเชือดคอให้เลือดสดๆพุ่งเข้าปากเจ้าแม่ทุรคาเทวีเพื่อสร้างพลีที่คาดว่าเทพเจ้าจะพอใจ ว่ากันว่าเลือดสดๆยังไหลนองอย่างไม่แห้งเหือดจากวิหารของเจ้าแม่มานานนับหลายพันปี

ที่ตโปทานทีหรือตโปทาราม เป็นวัดฮินดูที่คนทั่วโลกมุ่งไปดูแขกอาบน้ำ ที่เชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากเขา เวภารบรรพต เป็นธารน้ำอุ่นที่เชื่อว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ วิธีอาบแบ่งเป็นชั้นๆตามวรรณะสูงต่ำ พวกวรรณะพราหมณ์ได้อยู่ชั้นสูงสุด เป็นน้ำต้นน้ำที่ใสสะอาด ดื่ม อาบ ซักผ้าแล้วไหลลงไปให้ชนชั้นแพศย์ใช้ จากนั้นไหลลงไปให้วรรณะศูทรใช้ สุดท้ายที่วรรณะจัณฑาลที่ต้องใช้น้ำที่ดำปี๋สีขี้โคลนเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลของพวกวรรณะที่สูงกว่า

                ผมมองดูภาพที่เห็นอย่างไม่เชื่อสายตา คนจัณฑาลนับกว่าร้อยแออัดอยู่ในน้ำเน่าสีโคลน บ้างซักผ้าบ้างอาบน้ำอย่างไม่รังเกียจหรือมีความรู้สึกใดๆเชิงต่อต้าน

คำว่าสิทธิมนุษย์ชน ผุดขึ้นมาในหัวของผมพร้อมกับคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ถ้าไปบอกคนจัณฑาลเขาอาจไม่รู้ความหมาย มันเป็นประเพณีที่สืบทอดมานับหลายพันปี ลูกๆที่เกิดมาก็เห็นปู่ย่าตายายพ่อและแม่ล้วนทำอย่างนี้

ขากลับผมนั่งซึมเพราะมัวคิดถึงแต่เรื่องนี้ จนกระทั่งภาพสมัยผมเป็นเด็กผุดขึ้นมาแทน ผมเห็นภาพแม้วที่ดอยปุย ที่อาบน้ำและขับถ่ายสิ่งปฏิกูลลงในธารต้นน้ำแล้วยังมีหน้ามาบอกว่าผมว่า

 สูเป็นคนเมือง สูบ่ต้องมาดูถูกเฮาคนดอย สูฮู้ก่อ สูยังอาบน้ำขี้ตีนเฮา ทั้งเห็นทั้งได้ยินแบบนี้จึงค่อยหายซึมไปบ้าง

                  (แปลว่า เอ็งเป็นคนอยู่ในเมือง อย่ามาดูถูกเราว่าเป็นคนป่าคนดอย รู้รึป่าว น้ำท่าที่เอ็งใช้กินอาบอยู่ทุกวันนี้ มันคือน้ำล้างเท้าของพวกเรา)

ขอทาน ก็เป็นเสน่ห์อย่างยิ่งของอินเดีย ที่ซื่อสัตย์ในหน้าที่ของตนและประกอบภารกิจอย่างเข้มแข็งในทุกโอกาส หากใครเบื่อหน่ายในการขอของเขา เขาคงตอบว่า

อีนี้ การขอเป็นหน้าที่ของฉานน่ะนาย อีนี่หน้าที่ฉานเป็นผู้ขอ..ฉานก็ขอ หน้าที่ของนายเป็นผู้ให้ อีนี้จะให้ไม่ให้ก็แล้วแต่นายน่ะ

คนไทยฟังแล้วเป็นต้องล้วงกระเป๋าหยิบรูปีให้ทุกราย

                ดังนั้น การไปเดินในถนนของอินเดีย จึงเป็นการบำเพ็ญตบะบารมีอย่างยิ่ง ระหว่างผู้ขอกับผู้ให้ ว่าใครจะมีตบะเตชะในการอดทนเป็นวิริยะบารมีมากกว่ากัน         

               วิถีชีวิตของชาวอินเดียนั้น ถ้าสังเกตให้ดีเหมาะสมกับการไปดูงานเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสฯอย่างยิ่ง

เพราะที่ผมเห็นนั้น ชาวอินเดียดูเขามีความสุขดีท่ามกลางสายตาของคนต่างชาติที่ดูถูกว่าเขาขาดแคลนทุกข์ยากไปเสียทุกสิ่ง ตามมาตรฐานของคนต่างชาติ

แต่วิถีชีวิตของคนอินเดีย ตื่นเช้าไปทุ่ง(ห้องน้ำ)ข้างถนนหรือตามทุ่งหญ้าเหมือนดั่งที่บรรพบุรุษเคยทำมานับหลายพันปี แม้แต่มหาตมะคานธี ที่ยังต้องยอมรับในวิธีการไปทุ่งว่าเป็นศิวิไลซ์ของคนอินเดียไปแล้ว เพียงแต่...ท่านกล่าวย้ำว่า ถ้าให้ดีเวลาไปทุ่งอย่านั่งซ้ำที่และควรนำพลั่วเล็กติดตัวไปด้วย ทำธุระเสร็จแล้วกลบเสียให้เรียบร้อย คนอินเดียก็จะศิวิไลซ์มากยิ่งขึ้น

แต่ผมว่า ไปๆมาๆวัฒนธรรมการไปทุ่งของชาวอินเดียนั้น กลายเป็นวิธีการสร้างปุ๋ยชั้นดีไปทั่วประเทศ ท่านที่ไปเที่ยวอินเดียลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่าพืชผัก ผลไม้ของอินเดียจะดกงามเป็นพิเศษ ซึ่งผมมักจะเล่าเรื่องนี้หลังจากที่เห็นใครกินสลัดแขกไปแล้วจานใหญ่

หลังจากไปทุ่งเรียบร้อยโรงเรียนแขกแล้ว บาบูทั้งหลายก็จะคว้ากิ่งไม้คล้ายกิ่งข่อยบ้านเรา มาเคี้ยวๆไปบ้วนปากไป นัยว่าเป็นการแปรงฟันโดยไม่ต้องใช้น้ำ ใช้น้ำลายกับขี้ฟันในตอนเช้านั้นแหละกลั้วปากเป็นทูอินวันในตัว แต่ผมสังเกตดูเวลาแขกยิ้ม ฟันก็สะอาดดีและเวลามาพูดใกล้ๆกลิ่นปากก็ไม่มี

สู้พี่ไทยเราไม่ได้ขนาดใช้ยาสีฟันสารพัดใช้ยาบ้วนปากนานายี่ห้อ เวลาพูดออกมาทียืนอยู่ห่างห้าเมตรยังแทบสลบ(แต่เราก็ยังภาคภูมิใจ เอาไปเป็นจุดขายในโฆษณาทางทีวีหลายเรื่อง)

นอกจากนั้น ถ้าไปดูบ้านของคนอินเดียในชนบท จะเป็นการปลูกบ้านที่ไม่ต้องจ้างสถาปนิกและมีอินทีเรียดีไซน์มาออกแบบให้ เพราะใช้เพียงขี้วัวผสมดินและอิฐก็สามารถสร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้แล้ว แถมเวลาทำอาหารก็ใช้ถ่านคือขี้วัวผสมฟางแล้วปั้นเป็นแผ่นๆแปะไว้ข้างฝาบ้าน พอแห้งก็หล่นแผละลงมาหยิบใช้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีไม่ต้องซื้อหา

ในช่วงหนึ่งของการเดินทางระหว่างพาราณาสีไปกุสินารา ไกด์ให้จอดรถข้างทางพักเข้าห้องน้ำที่มีร้านขายของกินพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นบริเวณใกล้ชุมชนเมืองไม่ค่อยมีที่โล่งให้ไปทุ่ง จึงให้อาศัยห้องน้ำของร้านนี้ หลายคนเข้าไปมองๆดูแล้วทำหน้าพะอืดพะอม ร้องบอกกันว่าไปหาทุ่งเข้าดีกว่า ผมยังไม่ปวดจึงไปสำรวจดูแขกขายจัปปาตี ที่คล้ายแผ่นโรตีที่อบในเตาดินเหมือนโอ่งฝังไว้และใช้เชื้อเพลิงจากขี้วัวดังกล่าว

 บาบูคนขายเอาแป้งที่นวดแล้วก้อนเล็กๆมาแผ่เป็นแผ่นกลมขนาดจานรองถ้วยกาแฟ ไปแปะไว้ข้างในเตา รอสักพักจนมีกลิ่นหอมก็เอาเหล็กเกี่ยวขึ้นมา

ไกด์เห็นพวกเรามุงมองด้วยความสนใจ จึงซื้อจัปปาตีร้อนๆพร้อมแกงกระหรี่ถั่วผสมมันอลูมาให้พวกเราทดลองกิน คณะของเราตอนแรกรีๆรอๆเพราะขยาดที่เห็นแมลงวันที่ตอมแป้งก่อนเข้าเตาอยู่หลายสิบตัว แถมบางคนเกิดสายตาดีบอกว่าเป็นแมลงวันตัวเดียวกันกับที่เห็นในส้วมที่ขอแขกเข้าเมื่อกี้นี้ ทำให้ไม่มีผู้กล้าลองดีลองชิม

แต่อยุธยายังไม่สิ้นคนดีครับ มีอาม้าคนหนึ่งปราดเข้าไปหยิบจับปาตีจิ้มแกงถั่วใส่ปากพร้อมบอกว่าอย่ากลัวเลย อั๊วกินมาหลายครั้งแล้ว...อร่อยมาก

จึงเกิดคนดีศรีอยุธยาติดตามมาอีก หลายคน...หลายคนและหลายคน จนหมดทั้งกลุ่มพากันพร้อมเพรียงกลายเป็นฮีโร่ที่พร้อมจะคุยฟุ้งว่ากล้าลองดีกับแขก รวมทั้งไอ้คนที่สอดตาดีว่าเห็นแมลงวันคนนั้นด้วย

จะว่าไปคนที่ไม่กล้าไปอินเดียนั้น ขยาดกับคำขู่ของคนที่เคยไปมาในอดีต ว่าสกปรก เต็มไปด้วยขอทาน อาหารแย่กินแล้วพาลท้องเสียตายเอา การคมนาคมก็ลำบาก ห้องน้ำก็ไม่มีฯลฯ สารพัดประมวลเอากลายเป็นแดนที่ไม่น่าเที่ยว

แต่เชื่อไหมครับ อินเดียเป็นประเทศที่คนไทยไปมากที่สุดรองจากจีน และส่วนใหญ่เป็นคนที่ตั้งใจไปจริงๆคือมีศรัทธานำไป

               ดังนั้น ถ้าจะเที่ยวอินเดียให้สนุกและเกิดพุทธปัญญา ต้องมองอินเดียในสายตาที่เข้าใจ เห็นใจและเคารพในสิ่งที่เขาเป็นอยู่

ถ้ามองให้ลึกลงไป ดูๆไปผมว่าเห็นเงาของคนไทยอยู่ในศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอินเดียอย่างใกล้ชิด บางอย่างแทบแยกไม่ออกว่าเป็นของไทยหรือของแขก แม้ภาษาพูดก็ฟังคุ้นๆหูคนไทยกว่าฝรั่ง ดังนั้นเมื่ออยู่ในอินเดียนานขึ้นสิ่งที่คิดว่าทนไม่ได้กลับเป็นสิ่งที่ยอมรับได้สนิทใจ

ไปใหม่ๆไกด์แนะนำให้เอาผ้าปิดจมูกและปาก ปิดตั้งแต่ลงเครื่องบินและปิดไปตลอดเวลาทุกสถานที่ๆไป ยกเว้นเวลากินที่จำเป็นต้องเปิด ผมเองก็ปิดไปกับเขาด้วย แต่สักพักหนึ่งเห็นแขกทั้งหลายมองดูพวกเราด้วยสายตาแปลกๆที่ไกด์บอกว่าชื่นชมในบารมีคนไทย

                แต่ผมแปลว่า มึงรังเกียจกูขนาดนี้ แล้วมาทำไมว่ะ!เป็นผมก็จะนึกอีหรอบเดียวกัน ถ้าเห็นใครมาทำอย่างนี้ที่เชียงใหม่

               ผมจึงเลิกใช้ผ้าปิดปากตั้งแต่บัดนั้น และหันมาใช้ผ้าพันคอคลุมหัวและยกพันรอบจมูกแทนเวลามีฝุ่นและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์...กลายเป็นอาบังหน้าตี๋ไป แต่รู้สึกกลมกลืนสบายใจดี

               ในอินเดียมีสิ่งที่ดี ที่ไทยยังไม่มีหลายอย่าง เช่น ถึงจะมีขอทานมากที่ตามตื้อตามขออยู่ทุกละแวก แต่ไม่ยักจะมีขโมย...หากถามแขกคงบอกว่าจะขโมยให้โง่ทำไม สู้ขอเอา มีจรรยาบรรณกว่าเป็นไหนๆ