ยินดีต้อนรับสู่

“ มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ”

แจ้ง/ส่งหลักฐานการโอนเงินร่วมบริจาคสมทบการอบรมได้ที่
E-mail : [email protected]
Facebook : www.facebook.com/vipassanacm/messages



เรื่องเล่าจากอาจารย์... ( ศรัทธาต่างกับงมงาย )

สวัสดีโยคีที่รักทั้งหลาย

 

                อาจารย์ได้หายหน้าหายตาไปในช่วงปีใหม่  ตามโปรแกรมที่วางไว้คือ ไปกราบนมัสการพุทธสถาน ที่เมืองอจันต้า ชมพูทวีป ประเทศแขกโน้น

 

                ก็ใช่จะศรัทธาจริตมากมาย  แต่ด้วยตั้งใจว่าเมื่ออาจารย์พิชัยเกษียณ เราจะไปดูพุทธศิลป์ที่ถ้ำอจันต้า ซึ่งสร้างราว พ.ศ. 300-700 ปี   ไปดูความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้เข้าถึงธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนา  จนทำให้ศรัทธาที่เปี่ยมล้นจากใจ ไหลรินออกมาเป็นพุทธสถานที่สวยงามน่าอัศจรรย์ยิ่ง  ในความรู้สึกของคนในยุคปัจจุบัน ที่อ่อนแอทั้งศรัทธา ความพากเพียร และขันติ

 

                ในการเดินทางไปอจันต้า ในครั้งนี้ก็ต้องไปเริ่มต้นที่พุทธคยา ตามธรรมเนียมของบริษัททัวร์ เพราะเขาเหมาที่นั่งไว้แล้ว และหลายๆ คนก็ถูกปลูกฝังในจิตใจว่า พุทธคยา โดยเพราะต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นที่ๆ เราท่านทั้งหลายจะต้องมากราบไหว้ เพราะเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์   บางคนก็ขวนขวายที่จะต้องมานั่งสมาธิใต้ต้นศรีมหาโพธิ์นี้ 

 

                แท้จริงแล้ว การมาพุทธคยา ก็เพื่อที่จะได้ระลึกถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว อย่างกล้าหาญของมหาบุรุษหนึ่ง คือ เจ้าชายสิทธถะ  ซึ่งเป็นยอดมนุษย์จะหาใครเสมอเหมือนยากยิ่ง

 

                การมาที่พุทธคยานั้น ก็เพื่อปลุกเร้าศรัทธา ให้เราหาญกล้าดั่งเจ้าชายสิทธถะ  และดำเนินความเพียรตามอย่างพระองค์ท่านบ้างเท่านั้น เป็นแก่นสารสาระ 

 

                หาใช่อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ  พอดีได้อ่านบทความของ อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ รู้สึกตรงกับใจของเราเอง  จึงนำมาเป็นของขวัญปีใหม่ให้โยคีได้เก็บไว้เป็นข้อคิดสะกิดใจ......

 

 

 

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย

 

                เรื่องที่จะพูดในวันนี้ตั้งชื่อว่า ธรรมะชั้นสูง เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาเทียบเคียงกับข้อความในธรรมะธรรมดาๆ ซึ่งเราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ

                และที่เรียกว่าธรรมะชั้นสูงนั้น เราก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่แล้วแต่เราจะมองดู หรือเราจะศึกษาว่าอยู่ที่ไหน  เช่นว่าในเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่ง  สมมุติว่ามะม่วง ถ้าเรามองอย่างพินิจพิเคราะห์ หรือศึกษาให้ความรู้จริงแล้ว เราก็จะเห็นได้ว่าในเมล็ดมะม่วงนั้นเอง มีทั้งใบอ่อน มีทั้งใบแก่ มีทั้งลำต้น  ตลอดจนส่วนประกอบของต้นมะม่วงซึ่งแฝงอยู่ในเมล็ดมะม่วงนั้น  โดยทำนองเดียวกัน  เมื่อเราได้ยินได้ฟังข้อความทางศาสนา  เราพิจารณาดูให้ดีแล้ว  เราก็อาจจะเห็นได้ทั้งธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติชั้นสูง และธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติตามธรรมดาสามัญของคนทั่วไป

 

                มูลเหตุที่ผมจะพูดเรื่องนี้ก็คือว่า  เมื่อประมาณปีครึ่งมาแล้ว  ได้มีพระภิกษุองค์หนึ่ง ท่านตั้งใจจะเดินทางไปประเทศอินเดีย  จะไปให้ถึงต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เพื่อตั้งใจอธิษฐานจะเป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งในอนาคต

                พระภิกษุรูปนั้นมีความตั้งใจเข้มแข็งมาก แต่ว่าท่านไม่มีทุน ท่านก็เที่ยวไปบอกญาติพี่น้องของท่าน ญาติพี่น้องก็มาบอกกับผมว่าเดือดร้อนเหลือเกิน จะต้องเอาสายสร้อยไปจำนำ  แล้วก็ยังจะต้องไปเรี่ยไรตามบรรดาญาติอีกหลายคนรวบรวมทุนให้พอ  เพื่อจะส่งท่านองค์นี้ไปประเทศอินเดีย  ไปที่โคนโพธิ์เพื่อตั้งใจให้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

                แต่พระท่านก็ยังคงยืนกรานอยู่ว่าอย่างไรๆ ก็ไปหาเงินมาให้ได้ก็แล้วกัน  ฉันไปข้างหน้าจะได้รับความเดือดร้อนหรือ ตกทุกข์ได้ยากอย่างไรก็จะไม่ละความตั้งใจอันนี้  และที่มาติดต่อกับผมก็เพื่อจะทราบระเบียบการเดินทาง 

ผมก็เล่าให้ท่านฟัง   แล้วตอนหนึ่งได้สนทนากันเป็นไปในทำนองธรรมะ คือผมถามท่านว่า  ท่านเข้าใจว่าต้นโพธิ์ที่แท้จริงน่ะอยู่ที่ไหน  ท่านก็บอกว่าอยู่ที่ประเทศอินเดีย  ผมก็บอกท่านว่า  ถ้ากล่าวกันตามหลักธรรมะชั้นสูงแล้ว  ต้นโพธิ์ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ประเทศอินเดีย

โพธิ แปลว่า ตรัสรู้  ถ้าอยู่ที่ประเทศอินเดียแล้ว  พวกลูกแขกวิ่งเกรียวกราวอยู่ใต้ต้นโพธิ์นั้นมีจำนวนไม่น้อย และพวกขอทาน ซึ่งมีจำนวนมากมายเวลาเราผ่านไปที่บริเวณต้นโพธิ์นั้น  พวกนี้วิ่งแห่กันมารุมล้อมเรา เพื่อขอสตางค์และถ้ายังไม่ได้แกก็จะวิ่งตามอยู่อย่างนั้น  แม้เราขึ้นบนรถแล้ว แกก็อุตสาห์วิ่งตามเรื่อยไปจนกว่าเราจะโยนเงินสตางค์ให้ แกจึงเลิก  หรือจนกว่าแกจะวิ่งไม่ไหว   แล้วระยะทางที่จะต้องเดินทางจากจังหวัดคยาไปยังต้นโพธิ์นั้นก็กินเวลาถึงชั่วโมงครึ่ง

ตลอดทางเราจะพบพวกเด็ก หรือพวกขอทาน   พวกนี้ก็คงจะได้ใกล้ชิดต้นโพธิ์ดียิ่งกว่าเรา

แต่ปรากฏว่าพวกนี้ยากแค้นจะหาอาหารรับประทานแต่ละมื้อ  ก็ทั้งยาก  ผมจึงเรียนกับท่านว่า  น่าจะค้นหาต้นโพธิ์ในจิตใจของท่านเอง ซึ่งใกล้กว่า ไม่ต้องไปเรี่ยไรพี่น้อง  และถ้าท่านอยากตั้งใจจะเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปที่ประเทศอินเดียหรอก ตั้งใจที่ไหนก็ได้ และข้อสำคัญขึ้นอยู่แก่การประพฤติปฏิบัติของตัวท่าน   แต่ว่าข้อความที่ผมได้เรียนท่านไว้นี้  ท่านไม่ยอม เพราะท่านตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าจะต้องไปที่ต้นโพธิ์ต้นนั้นให้ได้ จึงจะขลัง  ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร

 

ข้อความที่นำมาเล่ามานี้  ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า  ถ้าเราพยายามหาสาระในทางธรรมกันแล้ว  เราอาจจะหาได้ในที่ทุกแห่ง  และเมื่อเรารู้จักแสวงหาบางทีในที่ที่ไม่น่าจะพบธรรมะ เช่นในโรงมหรสพ  เรากลับพบธรรมะ เช่นดูตัวอย่าง พระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร เมื่อก่อนออกบวชนั้น ไปได้คติเตือนจากโรงมหรสพ  ไปดูละครเห็นเขาแสดงท่าทางต่างๆ เวลาคนดูชอบใจก็หัวเราะตบมือ  เมื่อโศกสลดก็ร้องไห้  สองคนเลยคิดออกบวช  นี่เราจะเห็นได้ว่า การมองดูธรรมะนั้น บางครั้งถ้าเรามองเป็นแล้ว ไม่จำกัดสถานที่

และตัวอย่างที่ชัดเจนอีกข้อหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าของเราเอง ในสมัยที่ท่านออกผนวชนั้น ท่านได้ไปในที่นั้นที่นี้ เพื่อจะแสวงหาพระโพธิญาณ  ตามที่ปรากฏว่า ไปประทับนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ทำพระหฤทัยให้สงบระงับ  ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้

คราวนี้มีปัญหาว่า ต้นโพธิ์น่ะหรือเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงพบความจริง  พระพุทธเจ้าทรงพบความจริงที่ต้นโพธิ์หรือที่ไหนกันแน่  ก็ถ้าต้นโพธิ์นั้นเป็นที่ค้นพบความจริงแล้ว  ใครๆ ที่ไปที่ต้นโพธิ์นั้นก็คงจะได้ค้นพบความจริงบ้าง

แต่ก็อย่างที่เล่ามาแล้วว่า  แถวต้นโพธิ์นั้นเต็มไปด้วยคนตกทุกข์ได้ยาก เช่น ขอทาน  เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า  พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในพระหฤทัยของพระองค์เอง  แต่เผอิญพระองค์ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์  เราก็ถือกันว่าใต้ต้นโพธิ์นั้นเป็นที่ควรเคารพสักการะก็ไม่แปลกอะไร

เพราะได้กล่าวไว้แล้วว่า  ในพระพุทธศาสนาเรามีธรรมะทุกชั้น  ถ้าเรายังไม่สมัครใจจะค้นในจิตใจของตนเอง เพียงแต่ไปที่ต้นโพธิ์ให้จิตใจเลื่อมใส ให้จิตใจสบาย ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน  แต่กล่าวตามหลักธรรมปฏิบัติ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ต้นโพธิ์ อยู่ที่จิตใจของท่าน

ก็เมื่อใจของเราเป็นที่ที่เราค้นพบความตรัสรู้ หรือแสงสว่าง หรือความสุขความทุกข์ได้เช่นนี้  เราก็อาจจะเห็นออกไปได้อีกว่า  ปัญหาทางจิตใจนี้มีอานุภาพอย่างไร ถึงกับเป็นเหตุให้คนในสมัยโบราณบางประเภทรังเกียจว่า เพราะเรามีจิตใจเราจึงเดือดร้อน  ก็พยายามที่จะปฏิบัติธรรมะไม่ให้มีจิตใจ  พวกนี้ก็เป็นเดียรถีย์ประเภทหนึ่ง  คำว่าเดียรถีย์ไม่ใช่คำหยาบคาย  หมายถึงพวกถือลัทธินอกพระพุทธศาสนา แปลว่า พวกเจ้าลัทธิ

พวกนี้เขาให้เหตุผลว่า อย่างเราทุกข์ยากเดือดร้อนกันนี่  ความจริงถ้าใจเราไม่รับรู้เสียแล้วมันไม่เดือดร้อน  ใครมาด่าเราใจเราไม่ออกรับก็ไม่เจ็บ  หรือใครเขาจะพูดแขวะ ถ้าใจไม่ออกรับก็ไม่รู้สึกแปลกใจ  ของเรานี่มันวุ่นวายคอยออกรับ  บางทีเขาไม่ได้ว่าเราแต่เราสงสัย  ก็ทำให้เราอยากจะไปต่อปากต่อเสียง หรืออยากจะสืบความจริงให้ยิ่งขึ้นไปอีก

แล้วบรรดาทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเราตัดเรื่องใจออกเสียแล้ว เราจะเห็นว่า ไม่มีความทุกข์  ถ้าจะพูดตามความเห็นของเจ้าลัทธินี้ บางครั้งก็ทำให้เราคล้อยตามไปได้ไม่น้อย และเมื่อเรานำหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขาได้ค้นพบกันใหม่ๆ มาประกอบ  ก็ยิ่งทำให้น่าเชื่อถือขึ้นไปอีก

 

คือนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เขาโยนไปให้ว่า มันสมองเราเป็นส่วนควบคุมความรู้ ควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ  สมมุติว่าเราปวดศีรษะ หรือปวดฟัน  เรารู้สึกมีความปวดเจ็บในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะเป็นการรายงานไปให้ มันสมองทราบ เราก็รู้สึกเป็นจริงเป็นจังว่าปวดเจ็บ

เพราะฉะนั้นเขาจึงได้หาวิธีคิดยาขึ้น  เพื่อว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เส้นประสาทที่จะติดต่อไปยังสมองมึนชาเสีย  มันจะได้ไม่รายงานให้สมองรู้  เพราะฉะนั้นคนที่ปวดฟัน ก็มีการรายงานเรื่องทีเดียวว่าปวดตุบๆ  สมองก็รับว่าปวดจริง แล้วครางเสียบ้าง หรือต้องบ่นต้องอะไรเสียบ้างละก็ค่อยยังชั่ว

ทีนี้ยาขนานนี้มันไปตัดการติดต่อเสีย ทำให้รายงานไปยังสมองไม่ได้  สมองนี่มันยุ่งนัก คือ พอรู้แล้วมันคอยเอะอะโวยวาย ยานั้นก็ไปทำให้เกิดการชา หรือการไม่รับรู้  เมื่อสมองไม่รับรู้แล้วก็เลยหายปวดฟัน  ที่หายปวดฟันน่ะ ไม่ใช่ตรงนั้นมันหาย คือมันตัดการติดต่อเสีย  จึงได้มียาประเภทกลางๆขึ้น เรียกกันว่าแอสไพรินบ้าง  แล้วก็เอามาประดิษฐ์อย่างอื่น  แต่ว่าส่วนผสมก็ละม้ายคล้ายคลึงกัน เรียกว่าอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง  แต่ว่าเป็นแบบเดียวกัน เป็นวิธีตัดไม่ให้สมองรับรู้แล้ว  ความทุกข์ซึ่งขึ้นไปไม่ถึง มันก็ทำท่าว่าหายไปจริงๆ

 

แต่พระพุทธศาสนามิได้รับรองมตินี้ เพราะว่าทางพระพุทธศาสนาไปไกลกว่านั้น ที่ว่าไปไกลกว่านั้นเพราะไม่ได้ไปคิดว่า ความทุกข์น่ะมันมีอยู่เพียงแค่ใจ  ความทุกข์ทางกายมันก็มีอยู่ และใจจะรับรู้ หรือไม่รับรู้ก็ตาม ความทุกข์บางอย่างมันไม่ขึ้นอยู่แก่ความรับรู้ของใจ แต่เราก็สมมติว่าเป็นทุกข์ด้วย

นั้นก็คือร่างกายมันทนอยู่ไม่ได้ ใจจะชอบหรือไม่ชอบ ลักษณะที่มันทนอยู่ไม่ได้นี่มันเป็นความทุกข์ประการหนึ่ง  ทางพระพุทธศาสนาจึงได้สอนให้เรารู้จักความทุกข์ทั้งสองอย่าง ทั้งทางกายและทางจิตใจ  และเมื่อสอนให้รู้แล้ว ก็ไม่ใช่ไปสอนให้เกลียดร่างกาย หรือเกลียดจิตใจ  คือทางที่เขาโทษว่ามีใจแล้วมันยุ่งนัก  เพราะฉะนั้นอย่ามีใจเลย

พวกเดียรถีย์ พวกนี้แกก็ปฏิบัติธรรมะชั้นสูงเหมือนกัน ต้องถึงฌานที่4   ในจิตใจของแกก็คิดว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้มีใจ แกเพ่งอย่างนี้ไปเรื่อยๆ   แล้วไม่ว่าจะตายไปด้วยลักษณะใด  จะไปเกิดมีแต่รูปร่างอย่างเดียว  ไม่มีชีวิตจิตใจที่เรียกว่า เป็นพรหมลูกฟัก อยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั่นไม่มีการรู้การคิด การเคลื่อนไหว  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเถียงว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร

มันเป็นไปได้ด้วยอำนาจกรรม คือว่า ในขณะที่จวนจะตายมันมีพลังที่จิตใจสะสมไว้ แล้วเมื่อหมดพลังงานจึงได้เปลี่ยนไปอย่างอื่น แต่ว่าถ้าพลังงานยังอยู่มันก็จะดำเนินในสภาพเช่นนั้นได้  พรหมที่มีลักษณะอย่างนั้นไม่มีจิตใจ ไม่ต้องทุกข์  แต่ก็ไม่แน่นอนอีก  ถ้าจะเทียบให้เห็นว่า ถ้ากำลังงานชนิดนี้เป็นอย่างไรแล้ว  เราก็พอจะเทียบได้กับการที่เรายกก้อนดินขึ้นก้อนหนึ่งแล้วขว้างไปในอากาศ  ความจริงเราขว้างออกจากมือแล้ว มันก็ควรจะตกทันที  แต่ก้อนดินนั้นเดินทางไปได้ไกล  แล้วแต่ว่ากำลังงานของเราจะบรรจุให้มากน้อยเพียงไรมันติดไปกับก้อนดินด้วย

ฉันใดก็ดี พวกที่ตั้งใจให้เป็นไปอย่างใด อย่างหนึ่งด้วยอำนาจจิตใจ มันก็เป็นไปได้ชั่วคราวอย่างที่บางลัทธิเขาไม่ต้องการให้มีจิตใจ มันเป็นไปได้ชั่วคราวเหมือนกัน แล้วพอหมดก็กลับตามอำนาจกรรมเดิมอีก

 

ทีนี้เราย้อนมาถึงปัญหาที่ตั้งเอาไว้  คือปัญหาที่ว่าธรรมชั้นสูงนั้นเราอาจจะมองให้เห็นสาระที่แท้จริงได้อย่างไรและตรงไหน  คือถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างรอบคอบตามชั้น  ทั้งชั้นต่ำ ชั้นกลางและชั้นสูงแล้ว  เราจะมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือว่าไม่เป็นโรคเหม็นสาบมนุษย์

ที่ว่าเป็นโรคเหม็นสาบมนุษย์นั้นก็คือ ว่าเราเข้าใจธรรมะไม่เพียงพอ บางทีเราไปติดอยู่แค่ธรรมะชั้นต่ำ  เราก็มองไม่เห็นธรรมะชั้นสูง  หรือไปติดอยู่ธรรมะชั้นสูงอย่างเดียว ก็มาฟังธรรมะชั้นต่ำกับใครไม่ได้  ต้องเป็นพวกสูง หมายความว่า เมื่อเราเรียนธรรมะชั้นสูงแล้ว มาฟังเทศน์ธรรมะต่ำๆไม่ได้ หรือว่าฟังพระความรู้น้อยเทศน์เราก็รังเกียจ 

ถ้าเรามองธรรมะให้ได้ทั้งอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูงแล้ว เราอาจจะมองธรรมชั้นสูงได้แม้ในคำพูดของเด็กๆ ที่เพิ่งสอนพูด  และในอันนี้ก็ปรากฏว่า ผู้ใหญ่บางคนก็ได้ยอมจำนนเด็กนั้นมาแล้ว  เป็นต้นว่า เด็กถามว่านี่เขาเรียกอะไรพ่อ  แล้วยกมือขึ้น  พ่อตอบว่า นี่เขาเรียกว่ามือ  แล้วเด็กก็ถามต่อไปอีกว่า ที่ยื่นๆ ออกมานี่เขาเรียกอะไรพ่อ  พ่อก็บอกว่าเขาเรียกว่านิ้วมือ  นิ้วมือทำไมมี 5 นิ้วล่ะพ่อ  เด็กก็ช่างถามน่ะ  ทำให้ผู้ใหญ่จนมามากแล้ว

การถามซอกแซกของเด็กอย่างนี้  เราอาจจะหาธรรมะ หรือค้นหาอะไรแปลกๆ ได้มาก  สติปัญญาหรือการค้นพบ อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลย  แม้ของพระพุทธเจ้าก็ต้องเกิดมาจากคำว่า ทำไม? หรือเหตุไร?  ถ้าไม่มีสงสัยเสียแล้ว ปัญญาก็ไม่เกิด

ข้อสงสัยอันนี้แหละได้เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าว่า ทำไมคนเราเกิดแล้วจึงต้องตาย ไม่ตายไม่ได้หรือ  แล้วทีนี้เมื่อท่านได้พบความจริงว่าคนเราที่เกิดมาทุกคน  ตามธรรมดามันต้องตายไปเช่นนี้   ก็เกิดสงสัยขึ้นว่าไม่ตายได้ไหม  พอเกิดปัญหาว่าไม่ตายได้ไหม ก็ทำให้ท่านต้องค้นว่ามันจะมีทางที่ไม่ตายได้บ้างกระมัง  และการค้นพบความจริงในที่สุดนั่นเองได้เป็นคำตอบข้อสงสัยของท่าน

 

ด้วยเหตุนี้การพิจารณาธรรมะ ด้วยตั้งปัญหาถามชนิดที่เป็นประโยชน์ ที่จะให้เกิดการค้นคว้า  จึงทำให้เราได้เข้าใกล้ธรรมะตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงอย่างสูง

ขอยกตัวอย่างต่อไปอีกเช่นว่า  เราอาจจะได้ฟังคำสอนทางศาสนาที่สอนว่า อย่าฆ่าสัตว์ อันนี้เราก็คงจะได้รู้กันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย  ว่าทางพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ ถ้าเราพอใจเพียงเพียงเท่านี้ก็หมดเรื่อง

ทีนี้เราถามต่อไปอีกว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงสอนมิให้ฆ่าสัตว์  ปัญหาก็จะเกิดต่อไปอีก และก็จะทำให้เราได้รับคำตอบว่าจุดมุ่งหมายในการไม่ให้ฆ่าสัตว์ก็คือ เพื่อไม่ให้เบียดเบียน  ไม่ให้ประทุษร้ายข่มเหงกันและกัน  เราอาจจะตั้งปัญหาถามต่อไปอีกว่า แล้วทำไมเล่าพระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราไม่ข่มเหงเบียดเบียนประทุษร้ายกันและกัน

ในขั้นต่อไปเราก็จะพบข้อปฏิบัติที่ละเอียดยิ่งขึ้นว่า  พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายจะให้จิตใจของเราไม่มากด้วยความโกรธ  การที่จะถึงลักษณะฆ่ากันจะต้องรู้สึกไม่พอใจ หรือไม่ชอบ  แต่ทีนี้เราจะต้องแบ่งหลายลักษณะ

การฆ่าสัตว์อาจจะฆ่าด้วยความโลภ  จริงอยู่ในทางอภิธรรมบอกว่า  ต้องมีโกรธจึงจะฆ่า แต่ว่าในตัวอย่างบางอย่างเช่น ชาวประมงแกไม่ได้โกรธปลาเลยก็อยากฆ่า  เจตนาที่จะฆ่าด้วยความสนุกก็ไม่มี  เพราะเขาถือเป็นอาชีพของเขา

เพราะฉะนั้นการฆ่านี้มันมีได้หลายลักษณะ หรืออย่างเด็กๆ เห็นนกเห็นอะไรก็อยากใช้หนังสติ๊กยิงสนุก  อย่างนี้เขาเรียกว่า ฆ่าด้วยความหลง  ตกลงทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุให้ฆ่าสัตว์ได้ทั้งสิ้น

แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความโลภ หรือความหลง  ส่วนใหญ่นั้นการที่ทะเลาะวิวาทฆ่าฟันกันมันมาจากความโกรธ  แต่ความโลภ และความหลงก็เข้าผสมมีอยู่ปนอยู่ไม่ใช่น้อย  เพื่อที่จะตัดปัญหาให้สั้นเข้าก็คือ  ชี้ไปที่เหตุอันใกล้ชิดได้แก่ การฆ่าฟัน

พระพุทธเจ้าต้องการให้คนเรารู้จักระงับความโกรธเสียบ้าง  ถามต่อไปอีกว่า ทำไมจึงสอนให้ระงับความโกรธ  ก็จะพบต่อไปอีกว่า ความโกรธนั้นมันไม่ได้เผาคนอื่น มันเผาเราก่อน  เมื่อมันเผาเราแล้วมันก็ทำให้เราทำอาการต่างๆ ที่ไม่น่าจะทำ ก็ทำลงไปได้  ถ้อยคำที่ยามปกติเราขายหน้าเขาที่สุดพูดไม่ได้เลย  แต่พอเราโกรธแล้ว เรากลับพูดได้ หรือคนที่ชอบพอกันที่สุด มีความลับอะไรก็เอามาบอกมาเล่ากันหมดสิ้น แต่พอโกรธกันขึ้นมาแล้วประจานกัน 

แม้คนที่เป็นญาติพี่น้องกัน  แม้คนที่เป็นสามีภรรยากัน  เจ้าความโกรธมันก็ไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น  ความโกรธนี้ทำให้สามีประจานภรรยาต่อหน้าธารกำนัลได้  ทำให้ภรรยาประจานสามีอย่างหยาบคายต่อหน้าธารกำนัลได้   นี่เราก็เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราระงับความโกรธนั้น ก็เพื่อจะทำความสงบระงับในจิตใจของพวกเรา

 

ในประการต่อไปอีก  เมื่อค้นให้ลึกลงไปก็จะพบว่า  ความโง่หรือความหลงนั้นเป็นรากเหง้าของกิเลสทุกชนิด  เมื่อเป็นรากเหง้าของกิเลสทุกชนิด  แม้ในเรื่องโกรธก็ต้องมีหลงผสมอยู่  เราจะเห็นได้ว่าในความโกรธก็ตาม  ในความโลภก็ตาม มันมีหลงปนอยู่ทั้งสิ้น  บางทีโกรธด้วยความเข้าใจผิด  เข้าใจผิดก็คือหลง  หรือโกรธเพราะไม่ทันคิด  ไม่ทันคิดก็คือหลง

ถ้าเห็นแจ่มกระจ่างเสียแล้ว ก็จะไม่มีลักษณะอาการเช่นนั้น  เมื่อเราพยายามซอกซอนไปจนถึงต้นเค้าจนพบว่า  ความหลงนี้เป็นต้นเค้าใหญ่  เพราะว่าเป็นประเภทเดียวกับอวิชชาที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นรากเหง้าของความยุ่งยากทุกชนิด

เราก็จะเห็นว่า ที่ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์เป็นเรื่องภายนอกนั้น เป็นเรื่องห้ามความประพฤติผิดทางกาย  แต่ว่า เมื่อสอบสวนลึกๆ เข้าไป  ก็จะพบว่ากลายมาเป็นเพื่อจัดการกับจิตใจเรานี่เอง  และแทนที่จะไปจัดการป้องกันการฆ่าสัตว์  กลับมาจัดการแก้ความโง่ความหลงของเรา

เมื่อแก้อันนี้ตกแล้ว มันค่อยๆ หลุดออกไปเป็นสายๆ แล้วไปแก้ข้างนอกตก  นี่ก็แปลว่าเรามองจากศีลข้อที่ห้ามฆ่าสัตว์ข้อเดียว  มองทะลุลึกเข้าไปถึงธรรมะชั้นใน  ลึกเข้าไปๆ ก็จะพบว่าเราอาจจะปฏิบัติอย่างไรศีลข้างนอกถึงจะปรากฏได้